ในงานฉลอง 20 ปี www ที่องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศในทวีปยุโรปเพื่อวิจัยและพัฒนานิวเคลียร์ หรือเซิร์น (European Center for Nuclear Research: CERN) จัดขึ้นที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ทิม เบอร์เนอร์ส-ลี (Tim Berners-Lee) ประธานองค์กรความร่วมมือเวิลด์ไวด์เว็บหรือ World Wide Web Consortium (W3C) แสดงความกังวลในเทคโนโลยีระบบการทำงานใหม่ซึ่งถูกพัฒนาให้สามารถบอกราย ละเอียดกิจกรรมออนไลน์ของผู้ใช้แต่ละคน เพื่อสร้างเป็นประวัติส่วนตัวของผู้ใช้ได้โดยอัตโนมัติ เท่ากับการรุกรานข้อมูลส่วนตัวที่วิ่งบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ตเช่นนี้ เป็นหนึ่งในสิ่งที่เบอร์เนอร์ส-ลีกังวลมากที่สุดในฐานะผู้ก่อตั้งเส้นทางอิน เทอร์เน็ตอย่าง www
"การสอดแนมลักษณะนี้เป็นสิ่งสำคัญที่ต้องหลีกเลี่ยง" ศาสตราจารย์ด้านวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ชาวอังกฤษกล่าว โดยบอกว่าหนึ่งในความท้าทายที่สำคัญที่สุดของโลกอินเทอร์เน็ตคือการสร้าง ความมั่นใจว่า ข้อมูลบนโลกออนไลน์นั้นถูกนำไปใช้ตามจุดประสงค์ที่เจ้าของข้อมูลยินยอมและ สมัครใจ
แม้ไม่ได้ระบุชื่อกูเกิล (Google) ยักษ์ใหญ่บริษัทโฆษณาออนไลน์สัญชาติอเมริกัน แต่หลายคนอดไม่ได้ที่จะนำสิ่งที่เบอร์เนอร์ส-ลีพูดถึง ซึ่งเป็นเทคโนโลยีระบบการทำงานใหม่ที่เขาระบุว่าสามารถตัดสินใจว่าใครควรจะ ชมคอนเทนท์ใดบนเว็บได้อย่างง่ายดาย มาเชื่อมโยงกับระบบโฆษณาใหม่ของกูเกิล โดยกูเกิลนั้นเพิ่งเริ่มทดสอบระบบโฆษณาใหม่ในชื่อ "interest-based advertising" เมื่อวันพุธที่ผ่านมา เป็นระบบโฆษณาที่ถูกออกแบบมาให้สามารถบันทึกประวัติการใช้งานอินเทอร์เน็ต ของผู้ใช้แต่ละคน เพื่อประมวลออกมาเป็นข้อมูลความสนใจ สำหรับนำไปใช้ในการเลือกโฆษณาที่เหมาะสมกับผู้ใช้รายนั้นๆ
นอกจากระบบอัตโนมัติ เบอร์เนอร์ส-ลียังพูดถึงความนิยมในการใช้แอปพลิเคชันฟรีบนอินเทอร์เน็ตหรือ คลาวด์เซอร์วิส (cloud service) ที่เพิ่มมากขึ้น ว่ายิ่งทำให้ข้อมูลส่วนตัวที่เก็บบนอินเทอร์เน็ตมีโอกาสรั่วไหลยิ่งขึ้น จุดนี้เบอร์เนอร์ส-ลีย้ำว่าภาครัฐควรเข้ามามีส่วนร่วมในการสอดส่องดูแลโลกออ นไลน์เพื่อป้องกันการนำข้อมูลเหล่านี้ไปใช้ในทางที่ผิด ท่ามกลางเทคโนโลยีบนโลก www ที่เบอร์เนอร์ส-ลีเชื่อว่าจะมีการพัฒนาที่รวดเร็วขึ้นอีก
"การพัฒนาเว็บนั้นยังไม่สิ้นสุด ผมมั่นใจว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหม่ที่จะเขย่าโลกอย่างที่ไม่เคยเป็นมา ก่อน" เบอร์เนอร์-ลีเชื่อว่าความเปลี่ยนแปลงนั้นคือการเชื่อมโยงข้อมูลแบบใหม่ ซึ่งจะเกิดขึ้นเมื่อระบบคอมพิวเตอร์สามารถวิเคราะห์ข้อมูลในแต่ละบิตได้เอง ไม่ใช่การวิเคราะห์เว็บเพจที่ถูกเปิดใช้งานอย่างที่เป็นในปัจจุบัน
เบอร์เนอร์ส-ลีอธิบายว่า สิ่งที่จะเกิดขึ้นกับโลกอินเทอร์เน็ตในอนาคตคือผู้ใช้จะสามารถเชื่อมข้อมูล ที่มีลักษณะคล้ายกันเพื่อนำไปคำนวณหรือจัดวางสำหรับวิเคราะห์และใช้ประโยชน์ ได้แบบทันทีทันใด นักเรียนนักศึกษาจะสามารถดึงข้อมูลจากสถาบันวิจัย ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงข้อมูลภาครัฐ และนักลงทุนสามารถนำข้อมูลในเอกสารประชาสัมพันธ์มาพล็อตเป็นกราฟได้อย่างมี ประสิทธิภาพเหนือกว่าเดิม
พัฒนาการเหล่านี้เบอร์เนอร์ส-ลีเรียกว่า Semantic Web หากแปลตรงตัว Semantic จะมีความหมายว่าการศึกษาเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงความหมายของคำหรือสัญลักษณ์ และเป็นคำที่บริษัทไอทีมากมายเชื่อว่านี่คือทิศทางของโลก Web 3.0 ในอนาคต
เบอร์เนอร์ส-ลีเชื่อว่า อนาคตของโลกเวิลด์ไวด์เว็บจะอยู่บนโทรศัพท์มือถือ ซึ่งปัจจุบันเบราว์เซอร์บนโทรศัพท์มือถือนั้นมีจำนวนให้เลือกใช้งานมากกว่า คอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊กแล้ว
"นี่คือสิ่งที่จะน่าตื่นเต้นมากในประเทศกำลังพัฒนา เพราะโทรศัพท์มือถือคือเป็นช่องทางเดียวที่ทำให้ประชากรจำนวนมากสามารถเข้า ถึงอินเทอร์เน็ตอย่างทั่วถึง"
จุดกำเนิดของ www ถูกบันทึกว่าเริ่มต้นขึ้นเมื่อเบอร์เนอร์ส-ลีเขียนโครงการส่งหัวหน้าหน่วย วิจัย CERN ในเดือนมีนาคม 1989 เป็นโครงการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารระหว่างนักวิทยาศาสตร์ในทวีปยุโรป โดยมีศูนย์กลางอยู่ที่ CERN ซึ่งเป็นศูนย์วิจัยทางนิวเคลียร์ฟิสิกส์ที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์โดยใช้ระบบ ไฮเปอร์เท็กซ์ ก่อนจะเริ่มทดสอบโปรแกรมต้นแบบที่พัฒนาขึ้นเพื่อรันบนคอมพิวเตอร์ NeXT ซึ่งเป็นพื้นฐานของระบบปฏิบัติการ OS X Macintosh ของแอปเปิล
ปีต่อมา เบอร์เนอร์ส-ลีใช้เวลา 2 เดือนในการพัฒนาซอฟต์แวร์ซึ่งสามารถเปิดให้ผู้ใช้แบ่งปันข้อมูลระหว่างกัน ผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตโดยใช้ชื่อเรียกเครือข่ายนี้ว่า World Wide Web ชื่อเครือข่ายใยแมงมุมทั่วโลกดังกล่าวเป็นที่รู้จักในวงกว้างช่วงปี 1991 และได้รับการพัฒนาเรื่อยมาจากหน่วยงานบริษัทไอที จนแพร่หลายไปในวงกว้างขึ้นเรื่อยๆเช่นในปัจจุบัน